ยุคเศรษฐกิจฟุบแทบโงหัวไม่ขึ้น หลายองค์กรใหญ่-น้อย ต่างพากันรัดเข็มขัด ออกมาตรการ “ต้อง” ประหยัดกันสารพัด
“การยุบแผนก” เพื่อลดจำนวนพนักงาน คือวิธีการลดต้นทุน ที่ไม่มีใครอยากเห็น แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้
และหากใครโดน “แจ็กพอต” ย่อมต้องดิ้นรนมองทางเลือกเพื่อหาทางรอดกันไป
ตามกำลังและความสามารถที่มีอยู่เป็นทุน…ดั้งเดิม
เมื่อราวต้นปี 2558 ที่ผ่านมา คุณเอีย-อารีย์ เพ็งสุทธิ์ วัย 46 ปี คือหนึ่งใน “มนุษย์ออฟฟิศ” แห่งยุค ที่มีอันต้องถูกเลิกจ้างจากตำแหน่งผู้บริหาร ระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกคอร์ปอเรต มาร์เก็ตติ้ง ของบริษัทประกันในเครือธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง
ซึ่งช่วงเวลานั้นเธอมีรายรับเป็นเงินเดือนประจำถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว
“ตอนออกมาได้ทุนมาก้อนหนึ่ง น้องๆ ที่อายุยังน้อยพากันไปหางานใหม่ ส่วนตัวเองอายุขนาดนี้ ฐานเงินเดือนเท่านี้ หางานใหม่คงลำบาก แม้จะไปสมัครงานใหม่ไว้ แต่เริ่มคิดอยากทำธุรกิจของตัวเองแล้ว”
คุณเอีย เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เป็นกันเอง
ก่อนเล่าต่อ ช่วงแรกยังไม่รู้จะเริ่มต้นอาชีพอิสระในแบบของตัวเองอย่างไรดี แต่ด้วยความที่มีฝีมือทำอาหาร เลยตั้งใจจะทำ “แกงถุง” ไปฝากขายตามออฟฟิศพรรคพวกที่เคยร่วมงาน
แต่ยังไม่ทันลงมือ มีเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งชื่นชอบการทำเกษตรเป็นชีวิตจิตใจ มาแนะนำให้ทำฟาร์มเห็ด เพราะแนวโน้มตลาดยังดีอยู่
“ตอนแรกอยากทำผักไฮโดรฯ เพราะเคยทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งมาก่อน รู้จักคนในแวดวงโรงแรม ร้านอาหารเยอะ ถ้าปลูกแล้วทำส่งให้เขาน่าจะได้ ประกอบกับเคยไปฟาร์มผักไฮโดรฯ เห็นแล้วสวยดี เลยอยากทำบ้าง แต่พอศึกษาละเอียด รู้ว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงพอสมควร” คุณเอีย ว่าให้ฟัง
เมื่อโปรเจ็กต์ผักไฮโดรโปนิกส์ยังไม่ผ่าน คุณเอียจึงทำตามคำแนะนำของเพื่อนรุ่นน้องคนดังว่า
หันมาศึกษาวิชาการเพาะเห็ดขาย ตระเวนไปหาความรู้เกี่ยวกับเห็ดทุกรูปแบบ นับแต่ การลงก้อน การรักษาก้อน การปล่อยน้ำ การเก็บ เป็นต้น
“ไม่เคยจับงานด้านเกษตรเลย แม้พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช พ่อ-แม่ทำนามาก่อน แต่ท่านให้แต่เรียนหนังสือ โตขึ้นมาหน่อยส่งเข้ากรุงเทพฯ เรียนจบ ทำงานเป็นสาวออฟฟิศมาตลอด ไม่เคยรู้ว่าการเป็นเกษตรกรเริ่มต้นยังไง แต่เมื่ออยากทำ ก็ต้องเรียนรู้จากศูนย์” คุณเอีย เล่ายิ้มๆ
ใช้เวลาไม่นาน จึงมี “วิชาเห็ด” ติดตัว ขั้นต่อไปคือ หาเช่าที่ดินเพื่อสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด เพราะบ้านที่อาศัยในรามอินทราของเธอและลูกๆ นั้น เป็นทาวน์โฮมตามสมัยนิยม ซึ่งมีพื้นที่ไม่มากนัก
แต่จนแล้วจนรอด หาเท่าไหร่หาไม่ได้ ส่วนที่พอจะได้ ก็ราคาแพงจนรับไม่ไหว
“ขับรถตระเวนหาเช่าที่ไปทั่วจนท้อ จำได้วันนั้นจะถอดใจ คิดว่าคงไม่ได้ทำแล้ว แต่ระหว่างทางก่อนถึงบ้านแค่ซอยเดียว เหลือบไปเห็นป้ายประกาศให้เช่าที่ 2 แปลง แปลงละ 100 ตารางวา กับ 200 ตารางวา เลยรีบโทรศัพท์ไปถาม พอทราบเงื่อนไข-ราคา รีบบอกตกลงเดี๋ยวนั้นเลย” คุณเอีย เล่าก่อนหัวเราะร่วน
เจ้าของเรื่องราว เล่าให้ฟังต่อ ที่ดิน 100 ตารางวา ที่อยู่ในซอยคู้บอน 27 แยก 8 ซึ่งเธอทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 2 ปีกับเจ้าของที่ดินนั้น ใช้เงินมัดจำ 10,000 บาท ค่าเช่าต่อเดือน 3,000 บาท หากครบเวลาตามสัญญาแรกแล้ว อาจทำสัญญาใหม่เป็นแบบปีต่อปี
หลังจากเข้ามาถางหญ้าสูงท่วมเอว เก็บขยะ ปรับหน้าดิน ล้อมรั้ว จนเป็นที่พอใจแล้ว
ขั้นต่อไปคือ การขอน้ำ-ขอไฟ เดินสายเข้ามาในที่ดิน ก่อนลงทุนด้วยเงิน 50,000 บาท สร้างโรงเรือนเพาะเห็ด ขนาด 4 คูณ 6 เมตร จำนวน 2 หลัง
จากนั้นจึงนำก้อนเห็ดนางฟ้าภูฏาน จำนวน 2,500 ก้อน มาลงไว้ในโรงเรือนหลังแรก ส่วนหลังที่ 2 ยังไม่ลงก้อนเห็ด เพียงแต่สร้างรอไว้ก่อน
“เห็ดล็อตแรกดอกสวย ไม่หงิก ไม่แฉะ ออกมาช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เก็บได้ประมาณ 80 กิโลกรัม แบ่งขายส่ง 20 กิโล คิดกิโลละ 70 บาท ขายปลีกกิโลละ 120 บาท คนรับซื้อส่วนใหญ่เป็นคนคุ้นเคยกัน” คุณเอีย เผย
และว่า โรงเรือนเพาะเห็ดขายทั้ง 2 โรงของเธอนั้นใช้พื้นที่ไม่ถึงครึ่งของ 100 ตารางวา เลยอยากหาพืชอื่นมาลงเพิ่ม ประกอบกับรู้จักกับคุณตา ที่อยู่ในละแวกบ้าน ซึ่งเป็น “หมอชาวบ้าน” มีความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอย่างดี เลยชักชวนให้ท่านมาช่วยอีกแรง
โดยวางแนวคิด “ปลูกไว้กิน เหลือค่อยขาย” พืชที่ลงเพิ่มส่วนใหญ่จึงเป็นพืชอายุสั้น อย่าง แตงกวา แตงร้าน ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ชะอม ต้นหอม ดอกดาวเรือง เป็นต้น
และหลักการสำคัญที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้คือ ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
“ตอนปรับหน้าดิน นำขี้วัวมาลงด้วย พอแตงกวา ถั่วฝักยาว เริ่มออก จะมีพวกรา เพลี้ย หนอน มารบกวน วิธีการกำจัดดีที่สุดคือ มือของเรานี่แหละ รูดบ้าง บี้บ้าง ให้มันตาย นี่คือภารกิจทุกๆ เช้าที่ผ่านมา แต่พอเริ่มโตไม่ต้องทำแล้ว รดน้ำตามปกติพอ” คุณเอีย เผยเทคนิคที่ได้รับถ่ายทอดมาจากคุณตา ผู้ช่วยคนสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ทั้งเห็ดและพืชผักสวนครัวดังว่า ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งถึงจะสามารถเก็บดอกผลออกจำหน่าย รายได้จึงอาจขาดช่วง
คุณเอียจึงแก้ปัญหาด้วยการปลูก “ต้นอ่อน” ของพืช พวก ผักบุ้ง ทานตะวัน และโตเหมี่ยว เพราะพืชกลุ่มนี้ ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน สามารถเก็บขายได้แล้ว
ส่วนความรู้เรื่องการเพาะต้นอ่อนนี้ อาศัยจากการอ่านหนังสือและค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต หาว่า ทำกันยังไง ใช้ดินแบบไหน หาซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ใดได้บ้าง
ช่วงลองผิดลองถูกเสียหายไปสองสามถาด แต่พยายามปรับปรุง จนตัดออกขายได้หลายชุดแล้ว
ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ถึงวันนี้ “เฮย์เดย์ ฟาร์ม” แปลงผักในเมือง ภายใต้การดูแลของคุณเอีย ให้ผลผลิตออกมาแล้วหลากหลาย นับตั้งแต่ เห็ดนางฟ้าภูฏาน ต้นอ่อนผักบุ้ง-ทานตะวัน-โตเหมี่ยว แตงกวา แตงร้าน ถั่วฝักยาว ดอกดาวเรือง ฯลฯ สามารถสร้างรายได้ให้เป็นระยะ
“ทุกวันศุกร์ผักจะเต็มท้ายรถและห้องโดยสารเลยนะ ช่วงแรกพวกเพื่อนๆ ออฟฟิศที่รู้จัก เขาคงอยากช่วย เลยสั่งซื้อ แต่ระยะหลังยังสั่งกันตลอด แสดงว่าผลผลิตเราขายได้ด้วยตัวเองแล้ว และคงสะดวกดี มีบริการส่งให้ถึงที่ ของก็มีคุณภาพ” คุณเอีย บอกอย่างนั้น
ก่อนกระซิบว่า ขับรถไปส่งของในเมืองแบบนี้ ค่าทางด่วน 200 ค่าแก๊สรถ 200 ยังคุ้มอยู่ เพราะขายได้บางครั้งถึง 3,000 กว่าบาท แถมยังได้เจอะเจอเพื่อนฝูงด้วย
สำหรับผักที่ส่งขายตามออฟฟิศในเมืองนี้ ส่วนใหญ่เป็นเห็ดและต้นอ่อนต่างๆ ส่วนแตงร้าน แตงกวา ถั่วฝักยาวที่เหลือจากเก็บไว้กินแล้ว คุณเอียพุ่งเป้าหมายไปที่ร้านส้มตำในละแวกบ้าน ทั้งแบบรถเข็นไปจนตึกแถว โดยขับรถเข้าไปถามกันตรงๆ ช่วงแรกแม่ค้าหลายคนทำหน้างง ไม่แน่ใจพูดจริงหรือพูดเล่น ที่ขับรถเก๋งคันเป็นล้านมาบอกขายถั่ว-ขายแตง
“เมื่อก่อนเห็นเงินพันสองพันเฉยๆ ตอนนี้ ร้อยสองร้อยกว่าจะได้มามันยากนะ แต่ก็หาได้ทุกวันอยู่ที่ขยันมากน้อยแค่ไหน อย่างแตงร้าน ออก 10 กิโล ขายหมดได้ 300 บาท แตงกวาอีก 5 โล ต้นอ่อน 20 ถุง ทำไปทำมาวันนั้นพันนึงได้แล้ว” คุณเอียกล่าว
ที่มา : มติชน , เส้นทางเศรษฐี
Cr. taibann