การนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงกว่าเกษตรกรอาจจะต้องใช้ต้นทุนทั้งในเรื่องของเครื่องจักรกล รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานเชื้อเพลิงอื่นๆเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในเรื่องของพลังงานดังกล่าวได้ด้วย “พญาแร้งให้น้ำ” เครื่องสูบน้ำแรงดันสุญญากาศ นวัตกรรมการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนการนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงกว่าเกษตรกรอาจจะต้องใช้ต้นทุนทั้งในเรื่องของเครื่องจักรกล รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานเชื้อเพลิงอื่นๆเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในเรื่องของพลังงานดังกล่าวได้ด้วย “พญาแร้งให้น้ำ” เครื่องสูบน้ำแรงดันสุญญากาศ นวัตกรรมการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน
คุณธงชัย ก้อนทอง เจ้าของฟาร์มไส้เดือนมาตรฐานและศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนความรู้การเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงบ้านสนามชัย ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวถึงการนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรภายในฟาร์ม ได้แก่ การปลูกพืช-ผัก ไม้ผล เลี้ยงปลา ฯลฯ ซึ่งคุณธงชัยได้แนวคิดการจัดหาพลังงานทดแทนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยหลักการของ”พญาแร้งให้น้ำ” เครื่องสูบน้ำที่ใช้แรงดันแบบสุญญากาศ นวัตกรรมใหม่ของการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนโดยไม่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานเชื้อเพลิงใดๆ
คุณธงชัยกล่าวถึงหลักการทำงานของ “พญาแร้งให้น้ำ” ที่มีลักษณะการทำงานที่คล้ายๆกับกาลักน้ำแบบทั่วไป โดยกาลักน้ำจะเป็นการนำน้ำจากที่สูงลงมาใช้ในพื้นที่ต่ำกว่า ส่วนการทำงานของพญาแร้งให้น้ำจะเป็นการนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในที่ลุ่มต่ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรบนพื้นที่ที่สูงกว่าจากการสูบน้ำด้วยระบบแรงอัดสุญญากาศโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานใดๆ
ซึ่งมีการวางระบบตามขั้นตอนแอละใช้วัสดุอุปกรณ์ดังนี้
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมถังน้ำสุญญากาศ
1. ถัง(เหล็ก) ขนาด 200 ลิตร (ไม่มีรูรั่วและมีฝาปิดมิดชิด)
2. ท่อเหล็กและข้องอ (สำหรับเชื่อมต่อกับถัง 200 ลิตร)
3. ท่อ PVC ขนาด 3/4 นิ้ว (สำหรับดูดน้ำพร้อมวาล์วหัวกะโหลกเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนกลับ)
4. ท่อ PVC ขนาด 2 นิ้ว และ 1 นิ้ว (สำหรับส่งน้ำไปใช้งาน พร้อมข้องอและข้อต่อ)
5. วาล์วเปิด-ปิด (สำหรับท่อเติมน้ำ,ท่ออากาศและเปิด-ปิดน้ำใช้งาน)
6. ท่อพักลม ขนาด 4 นิ้ว ลด 2 นิ้ว ความยาว 50 ซม. (สำหรับส่งแรงดันน้ำ)
7. ฐานสำหรับวางถังน้ำ 200 ลิตร ความสูงประมาณ 1.20 เมตร
8. น้ำยาประสานท่อ ,กาวสำหรับอุดรอยรั่ว ฯลฯ
การเชื่อมต่อถังน้ำสุญญากาศเข้ากับระบบท่อส่งน้ำ
ส่วนที่ 1 : ด้านที่ใช้สำหรับสูบน้ำมาใช้ประโยชน์
วางถังเหล็ก 200 ลิตรไว้บนฐานรองตามแนวนอน ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติให้มากที่สุด ทำการเชื่อมต่อท่อเหล็กกับตัวถังด้านบนโดยหย่อนท่อลงไปในถัง ประมาณ 20 ซม. และโผล่ขึ้นมาจากตัวถัง ประมาณ 10 ซม. พร้อมข้องอต่อเชื่อมกับท่อ PVC ขนาด 3/4 นิ้ว เชื่อมต่อกับท่อเติมน้ำพร้อมวาล์วเปิด-ปิด และปลายสายให้ต่อวาล์วหัวกะโหลกเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนกลับ โดยจุ่มลงไปในแหล่งน้ำ ความลึกตามความเหมาะสม
ส่วนที่ 2 : ด้านที่ใช้สำหรับนำน้ำไปใช้ประโยชน์
ด้านบนของถังให้ต่อท่อ PVC ลอยขึ้นมาเพื่อเป็นท่ออากาศพร้อมวาล์วสำหรับเปิด-ปิด ส่วนด้านล่างของถังให้ทำการเชื่อมต่อท่อเหล็กเข้ากับตัวถัง และต่อท่อ PVC ขนาด 2 นิ้ว สำหรับนำน้ำไปใช้ประโยชน์ ทุกระยะห่างประมาณ 30 เมตรให้ต่อท่อพักลมไว้เพื่อใช้เป็นตัวช่วยส่งแรงดันน้ำไปที่ปลายสาย แล้วลดขนาดท่อลงเหลือ 1 นิ้ว เพื่อให้น้ำไหลได้แรงขึ้น
ทั้งนี้ภายในระบบการส่งน้ำจะต้องอุดรอยรั่วทั้งหมดเพื่อไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้าไปข้างในได้
ขั้นตอนการใช้งานพญาแร้งให้น้ำ : เมื่อทำการเชื่อมต่อระบบท่อเข้าด้วยกันดีแล้ว ให้ปิดวาล์วจ่ายน้ำทั้งหมด เปิดไว้เพียงวาล์วลม และวาล์วที่ใช้สำหรับเติมน้ำ จากนั้นก็เติมน้ำเข้าไปในระบบท่อจนน้ำเต็มถัง แล้วทำการปิดวาล์วทั้งหมดเพื่อไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้าไป จากนั้นให้ทดลองเปิดน้ำที่ปลายท่อด้านที่ใช้งาน ในช่วงแรกจะเป็นการไล่อากาศออกจากระบบท่อ น้ำอาจจะไหลได้ไม่สม่ำเสมอ แต่เมื่อระบบน้ำทั้งหมดเข้าสู่สภาวะสุญญากาศแบบสมดุลแล้ว จะสามารถดูดเอาน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในที่ลุ่มมาใช้ประโยชน์บนที่สูงได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานใดๆเพิ่มเติม
หมายเหตุ : ตัวอย่างที่นำเสนอนี้ทดลองใช้ในระยะทางที่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติประมาณ 100 เมตร ซึ่งถังเหล็ก 200 ลิตรจะมีความทนทานต่อแรงอัดอากาศได้ดีกว่าถังน้ำพลาสติก หากต้องการเพิ่มกำลังส่งน้ำให้มากกว่าขึ้นสามารถนำถัง 200 ลิตรมาต่อเพิ่มเติมได้อีกเพื่อเพิ่มแรงอัดอากาศให้มากขึ้น และปิดน้ำทุกครั้งภายหลังจากเลิกใช้งานเพื่อความคงทนของอุปกรณ์ใช้งาน สนใจสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธงชัย ก้อนทอง โทร.081-6600493
ที่มา chit-in.com | tamdedaide