คุณชินอิจิโร่ อิคาริ คุณพ่อชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์อิจิมันเนนโด ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตหนังสือชุด Happy Advice ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจนทะลุยอดขาย 4 ล้านเล่ม ได้เผยถึงโจทย์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันให้ฟังว่า
ระยะหลังมานี้ ชาวญี่ปุ่นไม่ได้เน้นให้ลูกเรียนอย่างเดียว แต่จะสร้างเสริมคุณลักษณะหลายๆ ด้านเข้าไปด้วย ซึ่งจะเน้นความเป็นมนุษย์ทั้งในตนเองและในผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการให้เกียรติ รู้จักคุณค่าของตัวเอง มีความเกรงอกเกรงใจ ซึ่งความมุ่งหวังนี้เพื่อสร้างลูกให้อยู่ในสังคมอย่างไม่สร้างปัญหาหรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
“การทำให้คนอื่นเดือดร้อนเป็นเรื่องไม่ดี ถ้าลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในที่สาธารณะจะเตือนลูกให้รู้ทันที”
คุณอิคาริเผยถึงแนวการสอนที่สะท้อนให้เห็นว่าการสอนลูกให้คิดถึงส่วนรวมเป็นเรื่องที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก ส่วนเรื่องระเบียบวินัยนั้น คุณพ่อชาวญี่ปุ่นท่านนี้บอกว่า จะไม่เข้มงวดมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด แต่จะยึดหลักความสมดุลโดยเน้นที่ตัวลูกเป็นหลัก เช่น ให้ลูกช่วยกันตั้งกฎกติกาขึ้นมาเอง ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมว่าควรจะดู หรือเล่นกี่ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องระเบียบวินัยที่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจะเน้นสอนลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพแล้ว คุณอิคาริยังบอกต่อว่า การเลี้ยงลูกให้มีความสุขคือเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
เลี้ยงลูกแบบ Happy สไตล์พ่อชาวญี่ปุ่น
สำหรับหัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกแบบ Happy สไตล์คุณอิคารินั้น มีหลักง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่คนไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับลูกได้ ซึ่งมีเทคนิคดังต่อไปนี้
1. การแสดงความรักของพ่อแม่ควรแสดงอย่างเปิดเผย เช่น การกอด หรือพยายามสื่อสารให้ลูกรู้ว่า พ่อกับแม่รักลูก ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้พ่อแม่ และลูกจะมีความสุขไปพร้อมๆ กัน
2. เวลาที่ลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟัง ไม่ควรดุในทันที แต่ควรเปิดใจและรับฟังลูกก่อน นั่นจะทำให้ลูกเริ่มเข้าหาและใกล้ชิดกันมากขึ้น เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวตามมา
3. รู้จักขอโทษเมื่อทำไม่ดีกับลูก เช่น โมโหเกินไป หรือโกรธที่ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งจริงอยู่ที่บางครั้งมันห้ามไม่ได้ แต่ควรเรียกอารมณ์กลับมาให้เร็วที่สุด และพยายามขอโทษลูกกับอารมณ์ชั่ววูบที่พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจทำ
4. ถ้าเห็นลูกพยายามมุ่งมั่นหรือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง ควรชื่นชมในทันทีและควรชมบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มีความภูมิใจ และความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ต่อไป
5. ไม่ควรบังคับหรือคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เพราะชีวิตเป็นของลูก และเป็นคนละส่วนของพ่อแม่ ดังนั้น ไม่ควรคิดว่าลูกเป็นเสมือนสิ่งของของตัวเอง
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้แล้ว ญี่ปุ่นก็ยังถือว่าอยู่บนท่ามกลางความโกลาหลหลังเกิดแผ่นดินไหวได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจร่วมไปจะเป็นเหตุการณ์สึนามิครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก็ส่งผลให้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่และขาดแคลนอาหาร แต่ก็มีภาพที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความมีวินัยทั้งการเข้าแถวรับความช่วยเหลือโดยไม่มีการแก่งแย่ง การอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่เกะกะขวางทางผู้อื่น ทำให้สถานการณ์ค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
จึงมีเรื่องที่น่าสงสัยอีกว่า แล้วพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นมีวิธีฝึกลูกอย่างไรให้เป็นเด็กเก่ง จนเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและสามารถสร้างชาติให้เจริญได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ร้ายแบบนั้น เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เด็กญี่ปุ่นจะเก่งได้ขนาดนี้ ดังนั้น ลองมาดูความลำบากของเด็กญี่ปุ่นที่ต้องเจอก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพกันค่ะ
1. การเดินเป็นหลัก เด็กญี่ปุ่นทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไปต้องทางไปโรงเรียนเองไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน โดยเฉพาะเด็กส่วนใหญ่ของประเทศที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลต้องเดินไปกลับโรงเรียนเองไม่ว่าจะเป็นวันฝนตกหนัก พายุเข้าหรือหิมะตก ในเมืองใหญ่เช่นโตเกียวแม้ว่ามีรถยนต์แต่ผู้ปกครองไม่นำรถยนต์มาใช้หากไม่จำเป็น ดังนั้นครอบครัวยังคงใช้การเดินทางด้วยการขนส่งมวลชนซึ่งแน่นอนว่าใช้การเดินเป็นหลักเพื่อไปยังสถานีรถไฟหรือป้ายขึ้นรถบัสประจำทาง
2. การมีหน้าที่ต่างๆ ทั้งที่บ้านและโรงเรียน
ที่บ้านเด็กส่วนใหญ่จะได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ให้ทำงานบ้านที่เหมาะสมกับวัย ส่วนที่โรงเรียนนอกจากหน้าที่ประจำที่ทุกคนต้องทำตลอดทั้งเทอมแล้ว ทุกอาทิตย์เด็กแต่ละห้องเรียนต้องมีหน้าที่ทำความสะอาดห้องเรียนและบริเวณอาคารเรียนเพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
3. การไปพักแรมกับโรงเรียน
เด็กประถมศึกษาปีตั้งแต่ปีที่ 4 ขึ้นไปต้องไปพักแรมนอกสถานที่กับโรงเรียนอย่างน้อย 2 คืนซึ่งมีกิจกรรมเดินทางไกลและปรุงอาหารกินเอง (การให้เด็กเข้าค่ายพักแรมนี้น่าจะเหมือนกับระบบโรงเรียนของเมืองไทยอย่างการเข้าค่ายลูกเสือ เนตรนารี)
4. การซ้อมค้างคืนจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวกลับบ้านไม่ได้
เด็กญี่ปุ่นในชั้นประถมปีที่ 5 ต้องค้างคืนที่โรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งคืนด้วยชุดที่ใส่มาจากบ้านโดยไม่มีการอาบน้ำ และต้องกินอาหารสำเร็จรูปหรือขนมปังกระป๋องเพื่อฝึกซ้อมค้างคืนที่โรงเรียนหากมีภัยแผ่นดินไหวจนเป็นเหตุให้เด็กกลับบ้านไม่ได้
5. การเข้าค่ายว่ายน้ำทะเล
ทุกปิดภาคฤดูร้อนโรงเรียนจะจัดให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 6 ไปพักแรมริมทะเล และร่วมกิจกรรมการว่ายน้ำอย่างน้อย 500 เมตร เพื่อฝึกทักษะการรู้จักระมัดระวังตัวเองและเอาตัวรอดจากภัยการจมน้ำ
6. การเข้าค่ายต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ตัวเล็กๆ
ทุกปิดเทอมผู้ปกครองส่วนใหญ่มักให้เด็กๆ ไปเข้าค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายการกีฬา ค่ายโรงเรียนสอนพิเศษและค่ายที่จัดโดยสถาบันที่มีความชำนาญต่างๆ เพื่อให้เด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 เป็นต้นไป ทำให้ได้รู้จักการช่วยเหลือตนเองและรู้จักการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม
7. การมีความสามารถพิเศษที่เป็นผลมาจากความพยายาม
เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่เรียนพิเศษเพื่อให้มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี ศิลปะหรือกีฬา ซึ่งหากเป็นด้านดนตรีเด็กๆ จะต้องมีการแสดงใหญ่ให้ผู้ปกครองได้ชมทุกปีดังนั้น ทุกคนต้องฝึกซ้อมดนตรีอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง เช่นเดียวกับการเล่นกีฬาโดยส่วนใหญ่จะมีการจัดแข่งขันตามที่ต่างๆซึ่งใกล้หรือไกลบ้านอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาทักษะการกีฬาให้แก่เด็กๆ
8. การเรียนพิเศษที่หนัก
ในปัจจุบันเด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่สี่เป็นต้นไป มักเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อสอบเข้าโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงทั้งที่เป็นของเอกชนและรัฐบาล การได้เข้าเรียนในโรงเรียนดีๆและมีชื่อเสียงจะเป็นหลักประกันว่าเด็กๆสามารถสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีๆ ได้
จากความลำบากดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างความลำบากที่ผู้ใหญ่จัดให้เด็กญี่ปุ่น แม้ว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการให้ลูกได้รู้จักความลำบากบ้างจะช่วยสร้างความอดทน ความเพียรพยายามและการเรียนรู้เพื่อปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคม เพื่อเด็กจะได้โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก : ซากุระเมืองร้อน , teen.mthai.com , campus.sanook.com