เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก สถานีขนส่งผู้โดยสาร หมอชิต ที่เป็นสถานีขนส่งที่ใช้รับส่งผู้โดยสารจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง และเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท ขนส่ง จำกัด บนเนื้อที่ของกรมธนารักษ์จำนวน 63 ไร่ เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 แต่จากที่เราเรียกกันติดปากกันว่าหมอชิต แต่น้อยคนนักจะทราบกันว่าทำไมถึงต้องเรียกว่าหมอชิต วันนี้เราก็เลยมีเรื่องราวความเป็นไปเป็นมาของ หมอชิตมาฝากกันค่ะ
หมอชิต หรือนายชิต นามสกุล นภาศัพท์ เป็นคนบางพระ จังหวัดชลบุรี นอกจากจะเป็นเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นสถานีขนส่งหมอชิต (คือตั้งชื่อตามเจ้าของเดิม) ที่เดิมเคยเป็นตลาดนัดที่ชาวสวนเอาผลไม้ต่างๆ มาขาย จนเรียกกันว่า ตลาดนัดหมอชิตแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับซอยนภาศัพท์ บนถนนสุขุมวิท หอพักนภาศัพท์ ที่สร้างให้เป็นหอพักของนิสิตจุฬา และหาดวอนนภา ที่ชลบุรี อันมีที่มาจากชื่อภรรยาของท่าน คือ นางวอน นภาศัพท์ (นามสกุลเดิม เนติโพธิ์)
หมอชิตโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วไป (ต้องคนรุ่น ๕๐ ขึ้นไป) ในฐานะเป็นผู้ผลิตยานัตถุ์หมอชิต อันทำให้ได้นามนำหน้าว่า หมอ แต่นั้นมา ก่อนที่จะผลิตยานัตถุ์ได้เคยทำงานเป็นเสมียนที่ห้างเต็กเฮงหยู ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ห้างเพ็ญภาค เมื่อแต่งงานมีบุตรธิดาแล้วก็คิดขยับขยายหาความก้าวหน้ามาเปิดร้านขายยาของตัวเอง โดยเริ่มที่หน้าวัดมหรรณพาราม ใช้เครื่องหมายการค้าตรามังกร ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เสาชิงช้า ก่อนจะมาเปิดร้านที่ปากคลองตลาด เป็นที่รู้จักของชาวบ้านในนาม ร้านขายยาตรามังกร ช่วงนี้เองที่ได้คิดปรุงยานัตถุ์เป็นผลสำเร็จ โดยอาศัยตำราโบราณของบรรพบุรุษ จนเป็นที่นิยมไปทั่ว ได้เปิดเอเยนต์ในต่างจังหวัดขึ้นหลายแห่ง จากร้านขายยาก็กลายเป็นห้างขายยาตรามังกร กิจการก้าวหน้าจนขยายมาตั้งโรงงานปรุงยาขึ้นที่บ้านถนนเพชรบุรี และปัจจุบันได้เปลี่ยนมาดำเนินในรูปบริษัทยานัตถุ์หมอชิตแทน
สำหรับยานัตถุ์คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก แต่คนสมัยก่อนหากเห็นท่อเหล็กรูปตัวยู ที่คนสูงอายุสอดเข้าไปในรูจมูกด้านหนึ่ง ส่วนปลายท่ออีกด้านใช้ปากเป่า เป็นอันรู้ว่าท่านกำลังนัตถุ์ยา เพราะตัวยานั้นเป็นผงที่มีส่วนผสมหลายอย่าง เช่น ยาสูบ อบเชย เมนทอล สเปียร์มินต์ ฯลฯ การเป่าทำให้ตัวยาที่บรรจุลงในท่อเหล็กฟุ้งกระจายเข้าไปในโพรงจมูก ส่งผลให้ผู้สูบรู้สึกปลอดโปร่ง เคลิบเคลิ้มเหมือนได้สูบบุหรี่
หมอชิตเป็นผู้ขยันขันแข็ง มีความคิดทางการตลาดก้าวหน้า จากเสมียนก็กลายเป็นนายห้างจนเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวย ทำสาธารณประโยชน์ให้กับที่ต่าง ๆ ไว้มาก ทั้งเป็นกรรมการสมาคมพ่อค้าไทย และเมื่อทางราชการพระราชทานตั้งยศพ่อค้าไทย หมอชิตได้รับแต่งตั้งเป็นชั้นเอกทางพานิชกรรมท่านถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เมื่อมีอายุได้ ๕๘ ปี
ต่อไปนี้ก็คงหายสงสัยในเรื่องนี้กันแล้ว เชื่อเลยว่าสิ่งที่เรานำมาฝากในวันนี้ ต้องเป็นอีกหนึ่งความรู้ ให้กับหลายๆ คนเป็นแน่ ต่อไปถ้าต้องไปขึ้นรถที่หมอชิตก็คงจะรู้กันแล้วนะว่าที่มาของชื่อหมอชิตมาจากไหน
ที่มา: มูลนิธิ เล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์
เพิ่งรู้ก็วันนี้!! เผยโฉมหน้าของเจ้าของ "หมอชิต" เจ้าของพื้นที่สถานีขนส่งชื่อดัง ที่แท้คือคนๆ นี้ เองเหรอเนี้ย?!