สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุ 2 นักศึกษาไทย น้องมินอายุ 21 ปี และ น้องกอล์ฟ อายุ 28 ปี ขับรถตกเหวบริเวณอุทยานแห่งชาติคิง แคนยอน พาร์ค เมืองเฟรสโน สหรัฐอเมริกา กระทั่งพบซากรถตกอยู่ในแม่น้ำในเหวลึก ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้วเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ ยังไม่สามารถกู้วากรถออกมาได้ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำงานล่าช้าของทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หรือไม่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 ทางทีมงาน PPTV ได้สัมภาษณ์ นพ.สรฤทธิ์ เกียรติเฟื่องฟู แพทย์เวชศาสตร์การบิน และเป็นแพทย์ประจำทีมปีนเขาเอเวอร์เรส ออกมาวิเคราะห์สาเหตุถึงการกู้ซากรถระบุว่า “เมื่อคนปกติตกลงไปในน้ำที่เย็นจัดโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความหนาวเลย หรือต่อให้มีเสื้อกันหนาวหากมีการใส่ไปจริงๆ น้ำก็ซึมเข้าไปในเสื้ออยู่ดีและน้ำจะนำความร้อนออกจากเสื้อเร็วมาก และอุณหภูมิในร่างกายก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว หากต้องอยู่ในสภาพนั้นประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็คิดว่าไม่น่าจะมีชีวิตรอดแล้ว และยิ่งน้ำที่พัดเร็วก็ยิ่งทำให้พัดพาความร้อนไปจากร่างกายเร็วขึ้น ส่วนตัวคิดว่าทีมกู้ภัยน่าจะประเมินแล้วว่าทั้งคู่เสียชีวิตแล้ว โดยทีมกู้ภัยจะมีหลักสากลเหมือนกันทั้งโลกคือ ทีมที่เข้าไปกู้ภัยต้องประเมินความปลอดภัยของเราเป็นหลัก สถานที่ที่เข้าไปต้องปลอดภัย และไม่ทำให้ตัวเองเป็นผู้ประสบภัยเพิ่มเติม”
“ส่วนการใช้วิธีโรยตัวต้องดูสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาที่สูงประมาณ 3,000 เมตร และเป็นช่องเขาที่แคบลมจะมีความแรง การที่จะโรยตัวลงไปนั้นจะมีความเสี่ยงในการโรยตัวจากลม เมื่อลงไปได้ก็จะเจอกับน้ำเย็นจัดถึงแม้จะใส่ชุดป้องกันความหนาว ก็จะทำงานได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และเมื่อเป็นที่สูงประมาณ 3000 เมตร เหมือนเราโดนจำกัดขีดความสามารถไปอีก เพราะออกซิเจนจะน้อยลง ช่วยเหลือได้สักพักก็จะเหนื่อย ความเสี่ยงของลมที่พัดแรงและน้ำเย็นจัด ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงกับคนที่ลงไปช่วยอยู่เหมือนกัน จากการติดตามข่าวของทีมกู้ภัยที่สหรัฐฯที่มีการประเมินว่าอีกวันสองวันกระแสน้ำจะเบาลงและคิดว่าจะช่วยได้ ส่วนการใช้เฮลิคอปเตอร์นั้นไม่สามารถใช้ได้ เพราะอาจจะทำให้ตกได้ เนื่องจากเป็นหุบเขาที่แคบ อยากที่เฮลิคอปเตอร์จะบินรักษาระดับได้”
“ความสูงของหุบเขาที่รถตกลงไปในเหวนั้นมีความสูง 3,000 เมตร สภาพอากาศของหุบเขาไม่เหมือนกับประเทศไทย หากเทียบกับประเทศไทยสูงสุดคือดอยอินทนนท์ ประมาณ 2,800 เมตร ซึ่งลมกระโชกจะมาเป็นพักๆ ซึ่งลมพวกนี้ทำนายไม่ได้และมีความรุนแรงได้ถึง100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว หากเราอยู่ที่เกิดเหตุก็จะประเมินได้ดีกว่า การเห็นแค่ภาพ ซึ่งจากภาพอาจจะเห็นว่าใบไม้นิ่งสงบไม่มีลม แต่การกู้ภัยไม่ได้ใช้เวลาแค่ 10-20 นาที ซึ่งลมจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วทางสหรัฐฯเป็นคนในพื้นที่ก็น่าจะทราบและประเมินสภาพอากาศได้ดี และไม่สามารถจะเทียบกับอากาศในประเทศอื่นๆ หรือประเทศไทยได้”
ที่มา : PPTV HD 36 , kanomjeeb.
ฟังอีกด้าน “แพทย์ประจำทีมปีนเขาเอเวอร์เรส” วิเคราะห์เหตุใดสหรัฐฯ ถึงกู้ซากรถ 2 นักศึกษาไทยล่าช้า (ชมภาพ)