ชาวเน็ตงงหนัก อยู่ๆบิลค่าไฟม โผล่ค่าบริการ 38.22 บาท สรุปเป็นค่าอะไร ทำไมต้องจ่าย? วันนี้มีคำตอบ!

เป็นหลายคำถาม หลังจากที่โลกโซเชียลแห่แชร์รูปบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้า จนเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า ค่าบริการรายเดือน 38.22 บาท คืออะไร ทำไมต้องเก็บกับผู้ใช้ไฟ และการไฟฟ้ามีอำนาจในการเก็บเงินส่วนนี้หรือไม่ ล่าสุดทีมงานได้ค้นหาคำตอบมาให้แล้ว…

ค่าบริการรายเดือน 38.22 บาท คืออะไร ทำไมต้องจ่าย?

สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย และกำกับดูแลกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งกำหนดราคาอย่างเป็นธรรม ระบุว่า ค่าบริการรายเดือนนั้น จะประกอบไปด้วย

1. ค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายและการบริการผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ได้แก่ ค่าจ้างพนักงาน, ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการจัดหาเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง

2. ค่าใช้จ่ายในการจดหน่วยการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

3. ค่าใช้จ่ายในการคำนวณเพื่อจัดทำและพิมพ์ใบแจ้งหนี้ ส่งให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า และการเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า โดยการจัดหาบุคลากร เพื่อทำหน้าที่รับชำระเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าตามสำนักงานของการไฟฟ้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และตัวแทนรับชำระเงินที่การไฟฟ้าได้ว่าจ้าง

4. ค่าใช้จ่ายในการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้า ในช่องทาง Call Center ของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้ง การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้องด้วย

สำหรับค่าบริการ จะแตกต่างกันตามประเภทบ้านอยู่อาศัย ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

1. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 คือ ที่ติดตั้งมิเตอร์ “ไม่เกิน 5 แอมป์” และมีการใช้ไฟฟ้า “ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน” จะคิดค่าบริการรายเดือน 8.19 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้า เพื่อเป็นการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อย

2. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 คือ ที่ติดตั้งมิเตอร์ “เกิน 5 แอมป์” และ ที่ติดตั้งมิเตอร์ “ไม่เกิน 5 แอมป์” แต่มีการใช้ไฟฟ้า “เกิน 150 หน่วยต่อเดือน” ติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป จะคิดค่าบริการรายเดือน 38.22 บาทต่อเดือน

จ่ายทั้ง Ft และ VAT 7% ไฉนยังต้องจ่ายค่าบริการอีก 38.22 บาท?
นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อธิบายว่า…
ค่า Ft คือ ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และค่าซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมทั้ง นโยบายภาครัฐ เช่น ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฟ้าฐาน โดย กกพ.เป็นผู้กำกับดูแล
ส่วน VAT 7% นั้น เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประชาชนต้องชำระตามกฎหมาย
จะเห็นได้ว่า ไม่มีค่าบริหารจัดการของการไฟฟ้ารวมอยู่ในค่า Ft หรือ VAT 7% เลย
ดังนั้น ค่าบริการรายเดือน 38.22 บาทนั้น จึงถูกแยกออกจากโครงสร้างค่าไฟ เนื่องจากค่าบริการรายเดือนเป็นต้นทุนในกระบวนการจดหน่วย บำรุงรักษาเครื่องวัด กระบวนการจัดทำบิล ซึ่งไม่ได้ถูกรวมอยู่ในค่าไฟนั่นเอง

ใครใช้ ใครจ่าย! รัฐใช้ภาษี ช่วยจ่ายค่าบริการไฟฟ้าไม่ได้
สำหรับในข้อสงสัยที่ว่า จ่ายภาษีไปแล้ว ทำไมรัฐจึงไม่นำเงินภาษีมาช่วยจ่ายค่าบริการ เพื่อลดภาระประชาชน นายจาตุรงค์ อธิบายในเรื่องนี้ว่า ถึงแม้ว่า จะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แต่ก็ไม่สามารถนำเงินภาษีของประชาชน มาช่วยจ่ายค่าบริการได้
เนื่องจากว่า คนที่จะจ่ายค่าบริการ จะต้องเป็นคนที่ใช้ไฟ หากพูดกันแฟร์ๆ ประชาชนที่ไม่ได้ใช้ไฟเหตุใดต้องมาจ่ายแทนด้วย จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้ไฟแต่ละบ้านต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าบริการ
และค่าบริการ 38.22 บาท ไม่ได้เสียเท่ากัน หากเป็นโรงงานเสียค่าบริการมากกว่านี้ เพราะคิดตามต้นทุนที่ใช้จริง
ส่วนอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บนั้น การไฟฟ้าไม่มีสิทธิ์กำหนดค่าบริการได้เลย เนื่องจากตามกฎหมายการไฟฟ้าอยู่ภายใต้ สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการขึ้นมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟ เมื่อคิดคำนวณค่าต้นทุนเฉลี่ยแล้ว จึงออกมาเป็นตัวเลขดังกล่าวนั่นเอง

เงินประกันการใช้ไฟฟ้า ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร?

ในครั้งแรกที่ประชาชนยื่นขอใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าจะมีการเรียกเก็บ “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า” ซึ่งเงินประกันนี้ประชาชนจะได้คืนต่อเมื่อมีการยกเลิกใช้ไฟฟ้า

ประเด็นนี้ ทางสำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากการให้บริการไฟฟ้า เป็นการให้บริการก่อนเรียกเก็บค่าไฟฟ้า จึงต้องมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้าเพื่อเป็นเงินประกันการใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ กกพ. ได้ให้การไฟฟ้า จ่ายคืนผลประโยชน์หรือดอกผลที่ได้รับจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับประชาชน ดังนี้

1. ผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภท “กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง” ที่นำเงินสดมาเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้า จะจ่ายคืนในรูปของดอกเบี้ยปีละ 1 ครั้ง ตามอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

2. ผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภท “บ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก” จะจ่ายคืนในรูปของดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทย โดยจะคืนทุก 5 ปี เนื่องจากดอกผลเงินประกันเป็นจำนวนน้อย ซึ่งจะเริ่มจ่ายในปี 2563

18 ปีที่ระบุค่าบริการชัดเจน! กฟน.เผย ในอดีตไม่ได้แจกแจงละเอียด

นายจาตุรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า ในอดีตที่ไม่เคยเกิดคำถามแบบนี้ขึ้น เป็นเพราะว่า การไฟฟ้าไม่เคยชี้แจงโปร่งใสแบบนี้ และค่าบริการก็มีการเรียกเก็บมานานแล้ว เพียงแต่สมัยก่อนโครงสร้างค่าไฟในอดีตจะคิดรวมกันทั้งหมด ไม่ได้แจกแจงว่าเป็นค่าอะไรบ้าง

แต่ภายหลังจากที่ สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้แยกรายละเอียดออกมาว่า เป็นค่าพลังงานไฟฟ้ากี่บาท ค่าไฟฟ้าผันแปรกี่บาท ค่าบริการกี่บาท เพื่อความโปร่งใส ชัดเจน ทางการไฟฟ้าจึงได้ดำเนินการทันทีเมื่อปี 2543 หรือ 18 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดประเด็นคำถามขึ้นมาว่า ค่าบริการดังกล่าวนั้น คืออะไร?

ข่าวเก่า แชร์ซ้ำบ่อย! ปมเหตุ ค่าไฟขึ้น ปชช.รู้สึกไม่เป็นธรรม

“2 ปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าเจอข่าวแบบนี้ประจำ ด้วยประโยคเดิมๆ และได้ออกมาชี้แจงอยู่โดยตลอด ซึ่งข่าวลักษณะนี้มักจะมาในช่วงที่อากาศร้อน ค่าไฟขึ้น การไฟฟ้าเข้าใจประชาชนที่รู้สึกไม่เป็นธรรม จึงมีการแชร์ข้อความต่อๆ กันว่า ทำไมต้องเก็บค่าบริการ แต่พอหลังจากที่การไฟฟ้าชี้แจงไปแล้วก็เงียบไป แต่อีกสักพักหนึ่งก็มีข่าวแบบนี้ออกมาอีก ซึ่งการไฟฟ้าเข้าใจประชาชนและยินดีที่จะออกมาชี้แจงเพื่อความโปร่งใส” ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าว

ขอบคุณภาพจาก : Thairath
ที่มา : thaijobsgov

ใหม่กว่า เก่ากว่า